ประวัติ

ประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ต


        เดิมคำว่า 
ภูเก็ต นั้นใช้คำว่า "ภูเก็จ" อันแปลว่าเมืองแก้ว ตรงกับความหมายเดิมซึ่งชาวทมิฬเรียก มณีคราม ตามหลักฐาน พ.ศ. 1568 ภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดีย โดยผ่านแหลมมลายู หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ หนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่เดินเรือของทอเลมี เมื่อประมาณ พ.ศ. 700 กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิลงมาจนถึงแหลมมลายู ซึ่งต้องผ่านแหลม จังซีลอน หรือเกาะภูเก็ตนั่นเอง
จากประวัติศาสตร์ไทย ภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ ต่อมาจนถึงสมัยอาณาจักรศิริธรรมนคร เรียกเกาะภูเก็ตว่า เมืองตะกั่วถลาง เป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตร โดยใช้ตราเป็นรูปสุนัข จนถึงสมัยสุโขทัย เมืองถลางไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ในสมัยอยุธยา ชาวฮอลันดามาสร้างสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรับซื้อแร่ดีบุกจากเมืองภูเก็ต
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เกิดสงครามเก้าทัพขึ้นพระเจ้าปดุง กษัตริย์ของประเทศพม่าในสมัยนั้น ได้ให้แม่ทัพยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เช่น ไชยา นครศรีธรรมราชและให้ยี่หวุ่นนำกำลังทัพเรือพล 3,000 คนเข้าตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง ซึ่งขณะนั้นเจ้าเมืองถลาง (พระยาพิมลอัยาขัน) เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงจัน ภรรยา และคุณมุก น้องสาว จึงรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่าจนชนะเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รวบรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็น มณฑลภูเก็จ และเมื่อปี                พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนมาเป็น จังหวัดภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน

การตั้งถิ่นฐาน

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

การค้นหาหลักฐานร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในภูเก็ต ไม่ได้พบหลักฐานที่อยู่อาศัย เช่น ถ้ำหรือเพิงผา คงพบแต่เครื่องมือหิน โดยเฉพาะขวานหินขัดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขวานฟ้าแต่มีลักษณะไม่สมบูรณ์นัก ที่ได้พบจากเหมืองแร่และใต้พื้นดินที่ทับถมกันมานาน ในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยในเกาะภูเก็ตนั้นมีความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิศาสตร์มากกว่าพังงาและกระบี่ ซึ่งถ้ำหรือเพิงผาอาจถูกลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำลายจนไม่เหลือหลักฐาน
ชนเผ่าดั้งเดิมของภูเก็ตนั้น นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีส่วนใหญ่มีความเห็นว่าชนเผ่าดั้งเดิมที่พบเห็นได้ในปัจจุบันในคาบสมุทรมลายูได้แก่ ชาวซาไก (Sakai) และชาวเลหรือชาวน้ำ (C'hau Nam) ชาวซาไกซึ่งมีลักษณะคล้ายพวกเซมัง (Semang) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ทางตะวันตกของคาบสมุทรมลายู สันนิษฐานว่าชาวซาไกได้เดินทางมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณเกาะถลาง (ภูเก็ต) ต่อมาได้มีชนชาติมอญจากพะโคมาอยู่ในดินแดนแถบนี้คือ พวกเซลัง (Selang หรือ Salon) กลุ่มคนพวกนี้ชำนาญในการดำน้ำ จึงเรียกว่าชาวน้ำ (C'hau Nam) กลุ่มคนพวกนี้ยังอาศัยอยู่ในหลายเกาะแถบอันดามันจนถึงปัจจุบัน แต่ชาวซาไกปัจจุบันไม่พบในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากชาวเผ่านี้รักสงบกลัวคนแปลกหน้า ฉะนั้นเมื่อมีคนต่างเผ่า ต่างหน้าตา อพยพเข้ามาอาศัยมากขึ้น ชาวซาไกก็หนีถอยร่นเข้าป่าลึก ในที่สุดข้ามเขาไปอยู่ในแผ่นดินใหญ่ฟากตะวันออกได้แก่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ทำให้ภูเก็ตคงเหลือแต่ชาวเลที่ยังคงดำรงชีวิตอยู่ แต่ตามหลักฐานอาจมีชาวมอญ ชาวอินเดีย ชาวไทย ชาวจีนและชาวพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตด้วยเนื่องจากลักษณะบ้านเรือนในโบราณมีลักษณะเช่นเดียวกับบ้านชาวมอญที่เมืองมะริด และอาจสมรสกันจนเกิดเป็นชนรุ่นใหม่                                                                 
สมัยอยุธยา
ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งห้างค้าแร่ดีบุก ในเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ. 2126 ต่อมาในปีพ.ศ.2169 พระเจ้าทรงธรรมทรงทำสัญญา ให้ดัตช์เข้ามาผูกขาดการรับซื้อแร่ดีบุก ที่ถลางได้ เนื่องจากชาวดัตช์เริ่มเข้ามามีอิทธิพล บนเกาะชวามากขึ้น แต่ชาวถลางก็ลุกขึ้นสู้การกดขี่ของชาวดัตช์ โดยขับไล่ไปจากเกาะในปี พ.ศ. 2210 และต่อมาในสมัยพระนารายณ์มหาราช ทรงมีดำริที่จะให้สัมปทาน แก่ชาวฝรั่งเศส   มาสร้างห้าง และผูกขาดการค้าแร่ดีบุกที่ถลาง (ยกเลิกไปในสมัยสมเด็จพระเพทราชา)    

สมัยรัตนโกสินทร์-ปัจจุบัน        

ในสมัยรัชกาลที่ 1(พ.ศ.2328) เกิดศึกถลางขึ้น ซึ่งคุณหญิงจัน และคุณหญิงมุกร่วมกับชาวถลาง ต้านศึกพม่าได้สำเร็จ จนได้รับราชทินนามตำแหน่ง เป็นท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร                ต่อมาในปี พ.ศ.2352 เกิดศึกถลางครั้งที่สองขึ้น ถลางพ่ายแพ้แก่ทัพพม่า อย่างยับเยิน เมืองถลาง กลายเป็นเมืองร้าง

15 ปีต่อมา ( พ.ศ.2367) รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นสร้างเมืองใหม่ ที่บ้านท่าเรือ ประจวบกับช่วงนั้น มีการพบสายแร่ ที่บ้านเก็ตโฮ่ (อ.กะทู้) และที่บ้านทุ่งคา (อ.เมืองภูเก็ต) ความเจริญ และชุมชนเมืองจึงย้ายไปตามแหล่ง ที่พบสายแร่แต่เมืองเหล่านั้น (บ้านกะทู้ , บ้านทุ่งคา) แต่ก็อยู่ในฐานะเมืองบริวารของถลาง         

ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3-4 กิจการเหมืองแร่ มีความเจริญก้าวหน้ามาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบการส่งส่วย “ดีบุก” มาเป็นการผูกขาดเก็บภาษีอากรแบบ “เหมาเมือง” ตลอดจนมีการทำ สนธิสัญญา กับต่างชาติ ส่งผลให้ธุรกิจการค้าดีบุก ขยายตัวอย่างกว้างขวาง คนจีนพากันหลั่งไหล เข้ามาทำเหมืองจนกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ ในภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน       

ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2435) ได้มีการปฏิรูปการปกครอง เป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล มีการแต่งตั้งให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และในช่วงนี้เองที่ภูเก็ต เริ่มมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้วางรากฐาน ด้านต่างๆ ทั้งระบบสาธารณูปโภค เช่น การสร้างถนน, การพัฒนา ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ และวางรากฐานการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจในภูเก็ต คือ ตรา พ.ร.บ.เหมืองแร่, ริเริ่มการปลูกยางพารา ในภาคใต้ของประเทศไทยรวมทั้งภูเก็ต        

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมากิจการเหมืองแร่เริ่มซบเซาลง กลุ่มนักลงทุนเริ่มมีแนวคิด ในการนำธุรกิจการท่องเที่ยว เข้ามาแทนที่ การทำเหมืองแร่ และในวันที่ 23 มิถุนายน 2529 ได้เกิดเหตุการณ์ เผาโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม นับเป็นการปิดฉากธุรกิจเหมืองแร่ ในภูเก็ตอย่างแท้จริง การท่องเที่ยวกลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนภูเก็ต                                                                  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น